Categories
ภาวะผู้นำ

คุณลักษณะในการสร้าง “ผู้นำ” 10 ประการ (1) Learner การเป็นผู้ใฝ่รู้ ทำให้เกิดปัญญา

1. L = Learner (การเป็นผู้ใฝ่รู้ ทำให้เกิดปัญญา)

โลกทุกวันนี้ คือ โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ศตวรรษ” ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย และรวดเร็วมากกว่าใน “สองพันห้าร้อยปี หรือ พันล้านปี” ที่ผ่านมาเสียอีก

ลองย้อนกลับไปดูอดีต ว่ามีอะไรเกิดขึ้น

367 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1642 กาลิเลโอ สร้างกล้องโทรทรรศน์

259 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1750 เจมส์ วัตต์ สร้างเครื่องจักรไอน้ำ ใช้ปั่นด้าย

134 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1876เกรแฮมเบล สร้างโทรศัพท์ส่งสัญญาณไปตามเส้นลวด

130 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1879 เอดิสัน สร้างหลอดไฟฟ้าขดลวด

125 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) มีไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย

ใน “ศตวรรษ” ที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้น

106 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1903 ตระกูลไรท์ สร้างเครื่องบิน

104 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1905 ไอสไตน์ ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ

103 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1906 เรจินัลด์ เฟสเซนเดน แพร่สัญญาณวิทยุออกอากาศเป็นครั้งแรก

69 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1940 สร้างCOMPUTER (Z3) และ ENIAC

62 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1947 สร้าง TRANSISTOR, ผลิตเตาอบไมโครเวฟ

58 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1951 วิลเลียม ชอกลีย์ ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์

53 ปีที่ผ่านมา ในปี 1956 Toshiba หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติออกวางจำหน่าย

51 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1958 สร้าง IC.(INTEGRATED CIRCUIT), CHIP SEMICONDUCTOR

40 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1969 ยานอะพอลโล 11 นำ นีล อาร์มสตรอง ลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

38 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1971 สร้าง 4004 MICROPROCESSOR, CPU (Central Processing Unit)

35 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1975 Kodak สร้าง กล้องดิจิตอล

30 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1979 โซนี่เปิดตัวเครื่องเล่นวอล์กแมน

26 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1983 มีการทดลองโทรศัพท์ที่ทำงานโดยไม่มีสาย และสามารถเคลื่อนย้าย

เปิดตัว โลตัส 1-2-3 โปรแกรมประยุกต์สำหรับงานสเปรดชีต

24 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1985ไมโครซอฟท์เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows1.0

23 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1986 ไอบีเอ็มเผยแผนการผลิต PC Convertible ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์วางตักรุ่นแรก

17 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1992 สร้าง INTERNET

มาดูการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจกันบ้าง

จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลก ตกอันดับหายไปในทุก 7 ปี

ท่านคิดว่า เกิดจากสาเหตุอะไร ………..

ท่านรู้จักสินค้าต่อไปนี้หรือไม่ ………  ลูกคิด, ทีวีขาวดำ, วิทยุทรานซิสเตอร์, หลอดไฟฟ้าแบบมีไส้

ท่านคิดว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้สินค้าดังกล่าวข้างต้น หายไปจากตลาด

แน่นอน สิ่งต่างๆเหล่านี้ เกิดจากการที่ไม่ยอมที่จะเรียนรู้ และเข้าใจว่า โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังที่ไอสไตน์ กล่าวไว้ว่า คนที่คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม แต่ต้องการผลลัพท์ที่ดีขึ้น เรียกว่า “คนบ้า”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ซึ่งควรจะรอบรู้ (เรียนรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง) และรู้รอบ(รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีอะไรบ้างที่จะกระทบต่อธุรกิจที่ทำอยู่ และอาจจะกระทบอย่างไร มีผลมากน้อยเพียงไร) มีดังนี้

ปัจจัยภายนอก

ผลกระทบต่อแนวทางการบริหารธุรกิจ

1. เน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อความได้เปรียบด้านต้นทุน (Economy of Scales) เป็น

เน้นผลิตอย่างรวดเร็ว เพื่อความพึงพอใจของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (Economy of Speed)

2. เน้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหญ่ (Mass Production) เป็น

เน้นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม(Customized Production)

3. เน้นการซื้อครองสินทรัพย์ (Owing  Assets) เป็น

เน้นความสามารถในการเข้าถึงสินทรัพย์ (เช่า,จ้าง) เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของเรา (Accessing Assets)

4. เน้นการสร้างทรัพย์สินที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น สินค้า, ตึก เป็น

เน้นการสร้างทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) เช่น ตราสินค้า, ความสะดวก, ความเชื่อมั่น

5. เน้นการเพิ่มยอดขายโดยใช้ราคาต่ำ (Price Escalation) เป็น

เน้นการเพิ่มยอดขายโดยใช้คุณค่า (Value Escalation)

ผลกระทบต่อด้านการขาย คาดการณ์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงของการค้าปลีก ทำให้เกิดกติกาใหม่, บทบาทใหม่, ความสัมพันธ์ใหม่, และการค้าใหม่ ดังนี้

1. ผู้ค้าปลีกจะกลายเป็นผู้ผลิต และลงทุนสร้างตราสินค้าของตนเอง

ผู้ค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ จะจัดหาแหล่งผลิตสินค้าที่มีราคาถูกลง จากต่างประเทศ แล้วขายในประเทศ, ท้องถิ่น ที่เขามีความชำนาญ

2. ผู้ผลิต จะทำตัวคล้ายผู้ค้าปลีก

ผู้ค้าปลีกต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการบริหารสินค้าคงคลัง, พื้นที่การขาย,การวางแผน จนกระทั่งการขายจนถึงผู้บริโภคในห้างฯ   ผู้ผลิตจึงต้องรับภาระในการขายไปยังผู้บริโภคผ่านร้านค้าปลีก

3. คู่แข่งรายใหม่ และมีอำนาจสูง จะเข้ามา และดำเนินธุรกิจในแนวทาง และวิธีการใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

จะมีการขยายตัว ทั้งรูปแบบธุรกิจใหม่, สินค้าใหม่, การบริการใหม่ รวมถึงการบริการทางการเงิน

4. บทบาทของตราสินค้า จะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในการ

การแข่งขัน จะเปลี่ยนจากการมุ่งที่ส่วนแบ่งการตลาด(Market Share) มาเป็นส่วนแบ่งการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (Share of Life, Experience Marketing)

ปัจจัยภายใน

การเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความท้าทายของยุค ดังนั้นเราควรจะมีแนวความคิดต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

1. ไม่ยอมรับรู้การเปลี่ยนแปลง (Ignore)                เหมือนกับ การเดินข้ามถนนไม่ดูรถ

ก็รู้อยู่ว่าถนนสร้างให้รถวิ่ง แต่ฉัน “ไม่สนใจ” ผลก็คือ บาดเจ็บ, พิการ หรือกระทั่ง เสียชีวิต

2. รับรู้การเปลี่ยนแปลง (Aware)                           เหมือนกับ การยืนดู รถวิ่งผ่านไป

รู้อยู่ว่าจะมีรถวิ่งมา ฉันจึง “ยืนดู” ผลก็คือ เผลอแผล็บเดียว ทำไมเราอยู่ข้างหลังเสียแล้ว

3. รับรู้+ยอมเปลี่ยนแปลง (Equip)                         เหมือนกับ การเห็นรถ แล้วขอไปด้วย

รู้อยู่ว่าจะมีรถวิ่งมา ฉันจึงรอดู พอมีรถมา ฉันจึง “โบกรถขอไปด้วย” ผลก็คือ เรายังคงรักษาสถานะอยู่ได้ แม้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง

4. ควบคุมการเปลี่ยนแปลง (Leader)                     เหมือนกับ การขอขับรถเอง

รู้อยู่ว่าจะมีรถวิ่งมา และจะวิ่งไปทางไหน พอมีรถมา ฉันจึง “ขอเป็นคนขับไป” ผลก็คือ เราจะได้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น

ผู้นำ กับการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูล และจำเป็นต่อกันและกัน แต่ผู้บริหารบางคนกลับไม่เข้าใจ จึงล้มเหลว เพราะแสร้งโง่ไม่เป็น (I’m too Smart) เนื่องจากเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น มักจะคิดว่า “ข้าแน่”จึงปิดกั้นตัวเอง ใครจะเสนออะไรที่ไม่ตรงกับความเชื่อ, ความคิด, ความชอบ ตลอดจนสิ่งที่ตนไม่เคยรู้ ก็จะ “ไม่ฟัง” โดยคิดว่า “เป็นเรื่องไม่ถูก”ไปหมด มุมมองจึงแคบ ทำให้ขาดความคิดใหม่ๆในด้านสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพราะไม่เข้าใจว่าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น  “อวดฉลาด จะโง่ทั้งชีวิต แต่แสร้งโง่ครั้งเดียว จะฉลาดทั้งชีวิต”

ที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้

1. การเรียนรู้จากสถาบันการศึกษา เป็นการได้เรียนรู้ (Study) โดยตรง เช่น การเรียนปริญญาตรี, ปริญญาโท หรือการสัมมนาในช่วงสั้น ๆ แต่ “การศึกษาโดยไม่คิด นับเป็นความสูญเปล่า” หมายความว่า เรียนโดยใช้วิธีการ “ท่องจำ” ไม่นำไปใช้ หรือ เมื่อนำไปใช้ก็เอาไปใช้กับคนอื่น เมื่อระยะเวลาผ่านไป สิ่งที่ได้เรียนมาก็จะถูกนำไปไว้บนหิ้งบูชา ในที่สุดก็จะลืม จึงนับว่า “สูญเปล่า” ในขณะเดียวกัน “การคิดโดยไม่ศึกษานั้น อันตราย” หมายความว่า คิดจะทำอะไรก็ตาม พอคิดได้ก็ลงมือทำ โดยไม่ศึกษาให้เข้าใจว่า วัตถุประสงค์ที่ต้องการจะบรรลุจริงๆ คือ อะไร, สถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ เป็นอย่างไร, สิ่งที่จะทำนั้นสอดคล้อง และจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่ ตลอดจนเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ หรือไม่ และมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า หรือไม่ ดังเช่น ภาพยนตร์โฆษณา ผู้ใหญ่ลี กับการสร้าง“ผลิต-ฟัน”

*** ดังนั้น คนที่ “ดีแต่คิด” นั้น จึงมีผลเสียพอๆ กับคนที่ “ทำโดยไม่คิด”

2. การเรียนรู้จากผู้อื่น (Listen) แต่ละคนที่สามารถอยู่รอดและเติบโตอยู่ได้ในธุรกิจ ก็แสดงว่าเขามีความสามารถและมีข้อดีอย่างน้อย 1 อย่าง แม้จะเป็นลูกน้อง หรือ คู่แข่งของเราก็ตาม เขาก็เป็นแหล่งที่จะให้ความรู้แก่เราได้ เพียงแต่เราเปิดใจกว้าง, เรียนรู้, รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอจากเขา แล้วรู้จักเลือกรับสิ่งที่ดีมาพัฒนาตัวเองให้ได้

ถ้าหากคุณสนใจที่จะ “รับฟัง” คนอื่น คุณก็จะได้ยินและเข้าใจที่เขาพูด ยกเว้น คนที่มีลักษณะ ดังนี้

นักฝัน                     – ฟังแต่ไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่สนใจ จึงไม่ได้ยินเรื่องที่พูด

นักอ่านใจ               – ในใจคิดอยู่แต่ว่า เขาจะคิดอะไร, อย่างไร

นักช็อป                   – พวกนี้จะเลือกฟังแต่เรื่องที่ต้องการฟัง หรือ ชอบ เท่านั้น

นักสรุป                   – นำเรื่องที่ได้ฟัง แล้วใช้ประสบการณ์ของตน สรุปว่าต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆ

นักพากย์                 – ถามเป็นว่าเล่น จนไม่รู้ว่ากำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่

นักพูด                     – คิดแต่จะพูดฝ่ายเดียว จนไม่ได้ใส่ใจเรื่องที่คนอื่นกำลังพูดอยู่

นักเลง                     – พยายามหาจุดจับผิดผู้อื่น

นักแสดง                                 – ตกลงอะไรก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง

3. การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learn) เพราะที่มาความสำเร็จ คือ ความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อแสวงหาสิ่งที่มีสาระและให้คุณค่าทั้งต่ออาชีพการงานและการดำรงชีวิตในทางที่ดี เช่น การเลือกอ่านหนังสือ, ฟังวิทยุ, ชมรายการโทรทัศน์ วิดีทัศน์ ภาพยนตร์, การเข้าร่วมกิจกรรมสังคม ตลอดจนการหาข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต แล้วสะสมบ่มเพาะความรู้ (Incubation) ให้เกิดการพัฒนาทีละขั้น

ความรู้จึงทำให้องอาจ, เป็นที่ยอมรับ, เชื่อถือ และเป็นที่พึ่งของคนรอบข้าง เพราะช่วยแก้ปัญหาของเขาได้จริง แต่ที่สำคัญ คือ รู้จัก “ตัวเอง” ซึ่งโดยทั่วไปมีส่วนประกอบอยู่ 3ประการ คือ

สิ่งที่ “เรา” คิดว่า เรา เป็น

สิ่งที่ “คนอื่น” คิดว่า เรา เป็น

สิ่งที่ “เราเป็นจริงๆ”

1. สิ่งที่ “เรา” คิดว่า เรา เป็น และสิ่งที่ “คนอื่น” คิดว่า เรา เป็น คือ พื้นที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายรู้เหมือนกัน (Open Area)

2. สิ่งที่ “เรา” คิดว่า เรา เป็น และสิ่งที่ “เราเป็นจริงๆ” คือ พื้นที่ที่เรารู้ แต่คนอื่นไม่รู้ เป็นพื้นที่ซ่อนของเรา (Hidden Area)

3. สิ่งที่ “คนอื่น” คิดว่า เรา เป็น แล สิ่งที่ “เราเป็นจริงๆ” คือ พื้นที่ที่เราไม่รู้ แต่คนอื่นรู้ เป็นพื้นที่ตาบอดของเรา (Blind Area)

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้นำที่สามารถทำให้วงกลมทั้ง 3 วง เข้าใกล้กันมากที่สุด โดยการ

1. เรียนรู้ให้รู้จัก “ตัวเอง” ให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากคนส่วนมากมีความรู้เรื่องในโลกมากมาย แต่กลับไม่รู้จัก วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิต “ตัวเอง” ว่าอายุ 50 ปี ต้องการเป็นอะไร และจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร, ความสามารถ, จุดแข็ง ตลอดจน บุคลิก ที่ดี มีอะไรบ้าง และที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง มีอะไรบ้าง จึงจะสามารถพัฒนาข้อดีให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับลดข้อด้อย หรือสิ่งที่ไม่ดีให้ลดลง ทำให้ลดพื้นที่ตาบอดของเรา (Blind Area) โดยการ “ถาม””ความเห็นคนอื่น, การเข้าใจเรื่อง “นพลักษณ์” (Enneagram) ตลอดจนการฝึก “วิปัสสนา” ฯลฯ

2. เปิดเผย “ความเป็นตัวตนของตัวเอง” ว่าตนเองมีข้อดี และข้อด้อยอย่างไร (จากข้อ1) ทำให้คนรอบข้างมีความคาดหวังที่เหมาะสมกับสิ่งที่เป็นจริง จะทำให้ลดความเข้าใจผิด ตลอดจนการคาดหวังที่สูงเกินไป ทำให้ลดพื้นที่ซ่อนของเรา (Hidden Area) โดยการ “คิดและทำ” ในสิ่งที่เป็นตัวเอง ไม่ต้องเสแสร้ง, การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่เป็น ซึ่งไม่ใช่ความผิด เพราะหากจำเป็นต้องทำก็สามารถเรียนรู้ได้, “บอก” ความจริงกับคนรอบข้าง เมื่อเขาถามเรื่องอะไรที่ “รู้” ก็บอกว่า “รู้” แต่หากเป็นเรื่องที่ “ไม่รู้” ก็บอกว่า “ไม่รู้” คนๆหนึ่งไม่มีความจำเป็นต้อง “เก่งทุกเรื่อง” แต่ควร “เก่งบางเรื่อง” ในเรื่องที่ตนเองเป็นและต้องการจะเป็นในอนาคต

การพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โดยเริ่มต้นจากการเปิดรับข่าว (News)

เมื่อได้รับข่าวใดๆ ควรเริ่มที่ศูนย์ คือ เริ่มที่พื้นฐานความเป็นจริงในขณะนั้น (เหตุการณ์จริง-อะไร, สถานที่จริง-ที่ไหน, ข้อมูล-เวลาจริง-อย่างไร) อย่าด่วนสรุปโดยใช้ประสบการณ์ในอดีต ก็จะพัฒนาเป็น ข้อมูล (Data)

นำไปแยกเป็นหมวดหมู่ (Classify & Grouping) รวมไปถึงการจัดหาความสัมพันธ์ และแนวโน้มและรูปแบบของข้อมูล (Relation, Trend, Pattern) ก็จะพัฒนาเป็น ข่าวสาร (Information)

นำไปวิเคราะห์ (Analyze), หาสาเหตุ (Causes), และหาทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือพัฒนา (Alternatives) ก็จะพัฒนาเป็น ความรู้ (Knowledge)

นำไปปฏิบัติ(Implement), ผสมผสานกับความรู้ด้านอื่นๆ (Integrated), โดยการมองเห็นและเข้าใจปัญหาทั้งระบบ (Holistic) ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น (Synergy) ซึ่งอาจจะสรุปเป็นหลักการ (Principle) หรือ แม่แบบ (Model) ที่สามารถใช้ได้จริง ก็จะพัฒนาเป็นภูมิปัญญา (Wisdom)

ยิ่งเรียน, รู้สึกว่ายิ่งโง่, นับว่าเดินถูกทาง

คือ รู้ว่าในโลกนี้มีความรู้อีกมากมายมหาศาลเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด

ยิ่งศึกษา, ยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตน, นับว่าประสบความสำเร็จ

คือ ยิ่งเข้าใจ ก็จะยิ่งถ่อมตน เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ จึงจะประสบผลสำเร็จ

ผู้เริ่มต้นได้ถูกทางมีจำนวนไม่น้อย, แต่ปลายทางแห่งความสำเร็จมีน้อยเหลือเกิน

คือ มีคนจำนวนมาก รู้ว่าในโลกนี้มีความรู้อีกมากมาย แต่พอมีความรู้บ้างก็เริ่มเย่อหยิ่งจองหอง ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

*** คนที่เคยประสบความสำเร็จ มักจะอวด “ความสำเร็จ” ก็เป็นเรื่องธรรมดา และมีสิทธิ์ที่จะนำสิ่งที่เคย “ทำสำเร็จ” ออกแสดงและแลกเปลี่ยนกับสังคม ข้อคิดก็คือ ผู้ที่เคยทำสำเร็จด้วย “วิธีการหนึ่งวิธีการใดในอดีต” มาแล้ว เมื่อพบเหตุการณ์หรือปัญหาในปัจจุบัน ก็คิดว่า “วิธีการเดิม” ก็คงจะใช้ได้ผลอีก ก็เลยใช้วิธีการเดิมเดิม แต่เผอิญลืมไปว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ, สังคม, เทคโนโลยี, ตลอดจนโครงสร้างตลาดและการจัดการได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น เคยประสบความสำเร็จในการบริหารบริษัทที่ทำธุรกิจ “ขายตรง” ก็คิดว่าการบริหารบริษัทที่ทำธุรกิจ “ขายสินค้าอุปโภค” ก็คงเหมือนกัน  ธุรกิจใกล้เคียงกันก็จริง แต่กลุ่มลูกค้า, สินค้า และการแข่งขัน ก็เป็นคนละเรื่อง ทฤษฎีการบริหารถึงแม้จะมุ่งตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างภาพลักษณ์ของตัวสินค้าเหมือนกัน แต่รายละเอียดก็แตกต่างกัน

*** ความสำเร็จใน “อดีต” เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

แต่… จะไม่สามารถเป็นหลักประกันว่า จะทำให้เกิดความสำเร็จ ใน “ปัจจุบัน” และ“อนาคต” ได้

ที่มา – http://www.oknation.net/blog/monchai83/2009/10/30/entry-1

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.